วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คำว่า Cloud Computing มีผู้ได้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย เช่น
”การประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้สามารถระบุความต้องการไปยังซอฟต์แวร์ของระบบ Cloud Computing จากนั้นซอฟต์แวร์จะร้องขอให้ ระบบ จัดสรรทรัพยากรและบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยระบบสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนทรัพยากรให้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทราบการทำงานเบื้องหลังว่าเป็นอย่างไร” โดย JavaBoom Collection
หรือ คำนิยามจากวิกิพีเดีย ที่ว่า “Cloud Computing อ้างถึงทรัพยากรสำหรับการคำนวณผลที่ถูกเข้าถึง ซึ่งโดยทั่วไปถูกเป็นเจ้าของและถูกดำเนินการโดยผู้ให้บริการบุคคลที่ 3 (third-party provider) ซึ่งได้รวบรวมพื้นฐานที่จำเป็นทั่วไปเข้าไว้ด้วยกันในตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์คอมพิวเตอร์ (Data Center)  โดยผู้บริโภคบริการ cloud computingเสียค่าใช้จ่ายเพื่อความสามารถการคำนวณหรือการประมวลผลตามที่ต้องการ และไม่จำเป็นต้องรู้หรือเข้าใจในเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งซ่อนอยู่ อันที่ถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องแม่ข่าย (server)  อย่างไรก็ตามมีตัวเลือกสำหรับผู้พัฒนาที่ต้องรู้และต้องคำนึงถึงในเทคโนโลยีสำคัญซึ่งซ่อนอยู่ในส่วนของการบริการแพล็ตฟอร์ม (platform services)
การที่มีบางท่านให้คำนิยาม Cloud Computing ว่า “การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ”  นั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าอาจเป็นเพราะ Cloud Computing เป็นการทำงานโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มากมายบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราเพียงแต่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องสนใจว่าทรัพยากรที่ใช้อยู่นั้นมาจากต่างที่ต่างระบบเครือข่าย ทั้งที่อยู่ใกล้ ๆ หรือไกลออกไป เป็นการใช้ทรัพยากรภายในเครือข่ายขนาดใหญ่ จึงใช้สัญลักษณ์รูปก้อนเมฆแทนที่ตั้งของทรัพยากรคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่มีไว้ ให้บริการโดยผู้ให้บริการบุคคลที่สามแทน
มาถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพของ Cloud Computing บ้างแล้ว จึงขอกล่าวถึงคำที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีก เช่น

  • Cloud Provider สำหรับคำนี้คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะหมายถึงผู้ให้บริการระบบ Cloud นั่นเอง 
  • Cloud Storage คือสถานที่เก็บทรัพยากรสำหรับระบบ Cloud

ความแตกต่างระหว่าง Cloud Computing กับ Hosting ประเภทต่างๆ เช่น  Application Hosting หรือพื้นที่ให้บริการโปรแกรมประยุกต์, Web Hosting หรือพื้นที่ให้บริการเว็บไซต์, File Hosting หรือพื้นที่ให้บริการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลนั้น อยู่ตรงที่ Cloud Storage มี อิสระในการปรับขีดความสามารถ สมรรถนะ และขนาดทรัพยากรได้ตามภาระงาน เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในการขยายทรัพยากรสำหรับผู้ให้บริการ เพราะมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการบุคคลที่สามที่เป็นผู้จัดหาและจัดสรร ทรัพยากรอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจำนวนโปรแกรมจะใช้ทรัพยากรในการประมวลผลมากขึ้นเท่าไร หรือต้องใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ Cloud ไม่จำเป็นต้องกังวลในข้อจำกัดนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นจะขึ้นกับการจ่ายตามที่ใช้จริง (pay-per-use) และอาจมีเรื่องอื่นๆ อีกขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละเจ้าที่ให้บริการ โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่มากมาย เช่น Google Apps, Google App Engine, IBM Blue Cloud, Amazon EC2 เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น